สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า



พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญใน จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู
     พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติอีกด้วย
     สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก
พระศรีมหาโพธิ์ - พระแท่นวัชรอาสน์
   
     องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำลีลาพัฒน์หรือแม่น้ำฟัลดูร์ ในรัฐพิหารของอินเดีย ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา

       พุทธคยา ถือเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยมีต้นพระศรีมหาโพธิ์รวมทั้งหมด ๔ ต้น และทั้ง ๔ ต้นนี้ได้เจริญเติบโตทดแทนกันมาเรื่อยๆ และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นับเป็นอนุสรณ์สถานที่มีคุณค่า ของชาวพุทธและมวลมนุษยชาติทั่วโลก

       ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่หนึ่ง เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ได้รับการถวายหญ้า ๘ กำ จากโสตถิยะพราหมณ์เพื่อปูเป็นที่ประทับเมื่อใกล้รุ่งของวันเพ็ญ เดือน ๖ จึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มาก ซึ่งทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สนพระทัยในความสุขส่วนพระองค์เหมือนเช่นเคย เป็นเหตุให้เหล่านางสนม ต่างพากันโกรธแค้นต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้สั่งสาวใช้ให้นำยาพิษ และน้ำร้อนไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตายในที่สุด การตายของต้นพระศรีมหาโพธิ์ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเสียพระทัยมาก ทรงรับสั่งให้ใช้น้ำนมโค ๑๐๐ หม้อ ไปรดที่บริเวณรากของต้นโพธิ์ และทรงนอนคว่ำหน้าลง กับพื้นเหมือนการกราบไหว้ของพระทิเบต พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่า ถ้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ไม่แตกหน่อ จะไม่ลุกขึ้น แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นมาใหม่ พระองค์จึงสั่งให้ก่อกำแพงล้อมรอบ เพื่อป้องกัน อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับต้นโพธิ์อีก

         ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง ถือเป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นแรก และการที่พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่ พระพุทธศาสนา จึงมีการนำต้นโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ เช่น พระโสณะเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมา ยังดินแดนสุวรรณภูมิ และพระมหินทเถระเดินทางไปยังศรีลังกา โดยพระภิกษุเหล่านี้ได้นำต้นโพธิ์ไปด้วย

        ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองถูกตัดอีกครั้ง ในสมัยพระเจ้าสาสังการ ซึ่งครองเมืองเบงกอล พระเจ้า สาสังการเกิดแข็งข้อต่อพระเจ้าปรณวรมา จึงรับสั่งให้ตัดต้นและขุดรากต้นโพธิ์ใช้ฟางอ้อยสุม ใช้น้ำมันราด และเผาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีอายุราว ๘๗๑-๘๙๑ ปี เจ็ดวันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการทรงอาเจียนเป็น พระโลหิต และสิ้นชีพตักษัยที่พุทธคยา ซึ่งพระเจ้าปรณวรมาเสด็จมาพอดี จึงตีทัพของเบงกอลแตกพ่ายไป และทรงให้ชาวบ้านรีดนมโค ๑,๐๐๐ ตัว เอาน้ำนมที่ได้เทราดบริเวณต้นโพธิ์ที่ถูกเผา พระเจ้าปรณวรมา ทรงนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็แตกหน่อขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

        ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ ท่านเซอร์คันนิ่งแฮมได้เดินทางไปที่พุทธคยาเป็น ครั้งที่สอง พบว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรุดโทรมมาก ประชาชนชาวฮินดูในบริเวณนั้นได้ตัดกิ่งก้านไปทำเชื้อเพลิง และในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ล้มลงไปทางทิศตะวันตก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามมีอายุครบ ประมาณ ๑๒๕๘-๑๒๗๘ ปี

        ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ เป็นต้นที่ยังคงอยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสองหน่อที่แตก ขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามที่ล้ม โดยท่านเซอร์คันนิ่งแฮมได้ขุดหน่อที่สมบูรณ์ขึ้นมาปลูก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ปลูกไว้ห่างจากพื้นที่เดิมที่เป็นชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราไปประมาณ ๑๐๐ เมตร

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

พระพุทธเมตตา
พุทธคยา ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก อาจจะเรียกได้ว่า พุทธคยา คือจุดกำเนิดเกิดขึ้นของศาสนาพุทธ เพราะเป็นสถานที่ที่ เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นี่


 เป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และหลังจากนั้นก็ตัดสินพระทัยประกาศเผยแผ่ศาสนา สั่งสอนสัจธรรมที่พระองค์ค้นพบ และทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปทั่วโลก ยังดำรงสถิตมั่นอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้
 ในบริเวณพุทธคยา มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนนิยมไปกราบนมัสการกันมาก คือ พระพุทธเมตตา เหตุที่เรียกว่า พระพุทธเมตตา เพราะพระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน เมตตากรุณา
มีตำนานหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธเมตตา คือ
     ครั้ง หนึ่ง พระเจ้าศศางกา กษัตริย์ฮินดูจากเบงกอล เมื่อขึ้นครองราชย์ก็ทรงมีนโยบายทำลายพระพุทธศาสนา ได้ยกกองทัพมาถึงบริเวณ พระศรีมหาโพธิ์ ได้สั่งให้กองทหารของตนทำลายพระศรีมหาโพธิ์ พร้อมกับขุดรากขึ้นมาเผา (ภายหลังพระเจ้าปูรณวรมันได้เสด็จมาพบ ทรงเร่งให้บูรณะพระศรีมหาโพธิ์ ขึ้นใหม่ ดังกล่าวแล้ว) และได้เข้าไปในพระมหาเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปพระองค์หนึ่ง คิดจะทำลายด้วยตนเอง แต่ทำลายไม่ลง เพราะพระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตา
      เมื่อยกทัพกลับพระนคร คิดว่าหากปล่อยให้พระพุทธรูปอยู่ในพระวิหาร พุทธศาสนิกชนก็จะฟื้นฟูขึ้นมาอีก จึงให้นายทหารคนหนึ่งไปทำลายทิ้ง นายทหารนั้นไปถึงก็ไม่กล้าทำลาย เพราะเป็นชาวพุทธ แต่ครั้นจะไม่ทำลายก็เกรงพระราชอาญา อาจจะถูกประหารทั้งครอบครัว จึงคิดว่าไม่ทำลายดีกว่า แต่แค่ซ่อนพระพุทธปฏิมานี้เอาไว้ก็พอ จึงเอาอิฐมาก่อปิดทางเข้าห้องบูชา เพื่อไม่ให้ใครเห็น แล้วตั้งรูปพระมเหศวรไว้ด้านหน้า
     โดยกลับไปรายงานพระเจ้าศศางกาว่า ได้ทำลายพระพุทธรูปเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะดีพระทัย กลับหวาดกลัว ในอกุศลกรรม ภายหลังต่อมาได้ล้มป่วยลง พระวรกายเน่าเปื่อย เนื้อหลุดเป็นชิ้นๆ ด้วยบาปกรรมที่สั่งให้ทำลาย พระศรีมหาโพธิ์
 เมื่อพระเจ้าศศางกาสิ้นพระชนม์แล้ว ทหารคนนั้นจึงกลับไปที่พระมหาโพธิ์เจดีย์ นำเอาอิฐที่มุงบังพระพุทธรูปออก และจุดตะเกียงน้ำมันบูชา ปรากฏว่าดวงประทีบที่นายทหารคนนั้นจุดบูชาพระพุทธรูปยังส่องสว่างมาจนเวลา นี้  
   พระพุทธรูปองค์นี้แกะสลักจากหินสีดำเนื้อละเอียด ปางภูมิผัสสะ หรือที่คนไทยเรียกว่า มารวิชัย ศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละ อายุอยู่ในราว ๑,๑๐๐-๑,๔๐๐ ปี รุ่นราวคราวเดียวกันกับ หลวงพ่อองค์ดำ ที่เมืองนาลันทา ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวพุทธไทยเช่นกัน
 เหตุที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องมาจากประวัติว่า กษัตริย์ต่างศาสนาองค์หนึ่งยกทัพมาทำลายต้นศรีมหาโพธิ์ และพยายามที่จะทำลายพระพุทธรูปองค์นี้ ทำเกิดมีอันเป็นไปถึงสิ้นพระชนม์ 
 พระพุทธรูปองค์นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยเรียกกันต่อๆ มาว่า “หลวงพ่อพุทธเมตตา” ด้วยความที่ไม่ว่าใครจะทุกข์ร้อนมาจากไหน แต่เมื่อได้แค่เพียงเห็นพระพักตร์อันงดงามของพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ก็ต่างลืมความทุกข์คลายความร้อนอกร้อนใจไปสิ้น
 ปัจจุบัน หลวงพ่อพุทธเมตตา มีผู้ศรัทธาปิดทององค์พระเหลืองอร่ามสุกใสงดงาม และนิยมมาห่มผ้าพระ ถวายเครื่องบูชาต่างๆ มากมาย ด้านนอกรั้ววัดก็ยังมีรูปถ่ายของหลวงพ่อให้สาธุชนเช่าบูชา